เก็บอุจจาระส่งตรวจอย่างไรให้ผลตรวจไม่คลาดเคลื่อน

21

เมื่อเราไปตรวจสุขภาพ จะพบว่าต้องมีการเก็บอุจจาระให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจ แต่อุจจาระก็ไม่ได้จะสั่งหรือกำหนดได้เอง จนหลายๆคนต้องนำกระบอกเก็บอุจจาระกลับมาที่บ้าน แล้วค่อยไปส่งวันถัดไป แต่บางคนก็ปล่อยผ่านไม่ส่งตรวจ ซึ่งจริงๆแล้วการตรวจอุจจาระมีความสำคัญมาก สามารถบอกถึงสุขภาพของเราได้ด้วย

ตรวจอุจจาระไปเพื่ออะไร? 

การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยวินิจฉัยและคัดกรองโรคในผู้ที่มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร หรือเมื่อสงสัยภาวะผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร  

การเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจทำอย่างไร? 

การเตรียมตัวก่อนเก็บ 

ผู้ที่ต้องการส่งอุจจาระตรวจสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติและควรดื่มน้ำมาก ๆ ในผู้ที่เคยตรวจระบบทางเดินอาหารหรือตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบแสงมาก่อนควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 – 7 วัน หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบายที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน รวมถึงยาที่มีสารบางชนิดผสมอยู่ เช่น บิสมัส (bismuth) ชาร์โคล (charcoal) คาโอเพคติน (kaopectin) หรือ แบเรียม (barium) เป็นต้น เนื่องจากยาเหล่านี้อาจรบกวนการตรวจอุจจาระได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการตรวจหาเชื้อหนอนพยาธิหรือพยาธิโปรโตซัว 

ขั้นตอนการเก็บอุจจาระ 

ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของปัสสาวะขณะเก็บตัวอย่าง ตรวจสอบภาชนะเก็บอุจจาระว่าสะอาด ปราศจากรอยร้าว ควรตรวจสอบชื่อ รหัสประจำตัวผู้ป่วยที่ปิดข้างภาชนะเก็บตัวอย่าง ในกรณีที่ไม่มีป้ายชื่อติดที่ภาชนะเก็บตัวอย่างควรเขียนชื่อที่ภาชนะเก็บตัวอย่างให้ชัดเจน จากนั้นจึงดำเนินการเก็บอุจจาระตามขั้นตอน ดังนี้ 

1.ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกปากกว้างแห้งสะอาดหรือถ่ายลงบนโถส้วมในส่วนที่สะอาดและแห้งเพื่อไม่ให้อุจจาระตกลงน้ำ 

2.ใช้ช้อนพลาสติกตักอุจจาระเก็บใส่ในภาชนะเก็บตัวอย่าง ปริมาณ4-5 กรัม หรือประมาณนิ้วหัวแม่มือ  (ในกรณีที่อุจจาระเหลวสามารถถ่ายลงในภาชนะเก็บตัวอย่างได้โดยตรง) 

3.ควรเก็บอุจจาระให้กระจายทั่วก้อนที่ถ่ายออกมา นอกจากนี้ควรสังเกตลักษณะของอุจจาระที่ออกมาด้วยไม่ว่าจะเป็น สี กลิ่น ความหนืด รูปร่าง การจับเป็นก้อน รวมถึงสิ่งเจือปนอื่น ๆ ที่อาจพบได้เช่น มูก หนอง เลือด หรือตัวพยาธิ เป็นต้น  

4.ในกรณีที่พบความผิดปกติในอุจจาระ เช่น หนอง มูก เลือด หรือสิ่งที่สงสัยว่าเป็นหนอนพยาธิควรเลือกเก็บในส่วนนั้นเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 

5.ภายหลังการเก็บอุจจาระใส่ภาชนะเรียบร้อยแล้ว ควรปิดภาชนะให้สนิท 

6.นำตัวอย่างอุจจาระที่เก็บได้ส่งห้องปฏิบัติการทันทีหรือไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยตัวอย่างอุจจาระในตู้เย็นช่องธรรมดา 

การตรวจอุจจาระมีความสำคัญสามารถบอกถึงอาการผิดปกติหรือโรคที่กำลังเป็นอยู่ได้ หากใครเคยทิ้งกระบอกเก็บอุจจาระ ไม่เก็บไปส่ง เมื่อรู้ถึงความสำคัญแล้ว คราวหน้าเก็บอุจจาระส่งตรวจด้วยนะคะ