ช่วงหน้าฝนพืชผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ได้รับน้ำอย่างชุ่มช่ำและเพียงพอ ไม่ต้องรดน้ำบ่อยๆ แต่ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคพืชที่มักจะมาในช่วงหน้าฝน ที่มีความชุ่มชื้นมากแบบนี้ ใครที่ปลูกผักไว้ทานเองที่บ้าน ต้องเตรียมตัวรับมือกับโรคเหล่านี้อย่างไร อาการของโรคเป็นแบบไหน ป้องกันและแก้ไขอย่างไร เรามีคำตอบ
โรคพืชที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ได้แก่
1.ราน้ำค้าง (Downy mildew)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Peronosporaparasitica มักพบในพืชตระกูลแตง มะระจีน และบวบ
ลักษณะอาการ : จุดละเอียดสีดำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้านใต้ใบ ตรงจุดเหล่านี้จะมีราสีขาวอมเทาอ่อนคล้ายผงแป้งขึ้นเป็นกลุ่มๆ กระจายทั่วไป ใบที่มีเชื้อราขึ้นเต็มใบจะมีลักษณะเหลืองและใบจะร่วงหรือแห้ง
การแพร่ระบาด : สามารถแพร่ระบาดโดยลม น้ำ เครื่องมือทางการเกษตร สามารถมีชีวิตอยู่ข้ามปีได้
2.โรคเน่าคอดิน (Damping off)
เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Pythium sp. หรือ Phytophthora sp. มักพบใน ต้นกล้าของพืชผักและพืชไร่
ลักษณะอาการ : เกิดเฉพาะในแปลงต้นกล้า เนื่องจากการหว่านเมล็ดที่แน่น ต้นเบียด ต้นกล้าจะเป็นแผลช้าที่โคนต้นระดับดิน ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว
การแพร่ระบาด : เชื้อราติดมากับเมล็ด หรืออยู่ในดิน น้ำ ฝน
3.โรคใบจุด (Alternaria leaf spot)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Alternaria brassicae มักพบในพืชผักตระกูลกระหล่ำ
ลักษณะอาการ : ใบมีแผลวงกลม สีน้ำตาลซ้อนกันหลายชั้น เนื้อเยื่อรอบๆ แผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง บนแผลมักจะมีเชื้อราชั้นบางๆ เป็นผงสีดำ
การแพร่ระบาด : สปอร์ของเชื้อ สามารถปลิวไปตามน้ำ ลม แมลง อาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลง
4.โรคเหี่ยว (wilt)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Fusarium oxysporum พบในพืชพวกแตงชนิดต่างๆ ผักตระกูลกระหล่ำ
ลักษณะอาการ : ใบที่อยู่โคนต้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง ต่อมาใบจะเหี่ยวทั้งต้น จนต้นแห้งตาย
การแพร่ระบาด : การเกิดโรคนี้มักจะเกิดเป็นหย่อม ๆ ถ้าสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงและดินมีความชื้นสูง ทำให้โรคนี้ระบาดได้ดี
5.โรคราสนิมขาวในผัก (White Rust)
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Albugo ipomoea-aquaticae Sawada มักพบในผัก เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว และในไม้ดอก เช่น เบญจมาศ
ลักษณะอาการ : มีจุดสีเหลืองซีดด้านบนของใบ ด้านใต้ใบตรงกันข้าม จะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ขนาด 1-2 มิลลิเมตร อาจพบปุ่มปม หรือบวมพองโตขึ้นในส่วนของก้านใบและลำต้น
การดูแลพืชในช่วงหน้าฝนให้พ้นจากโรค สิ่งที่สำคัญคือดินต้องไม่แฉะเกินไป แสงแดดต้องเพียงพอ และที่สำคัญหากพบต้นใดเป็นโรคให้ถอนทิ้งทันที อย่าเสียดายเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค