มาทำความรู้จัก หุ่นกระบอกไทย ศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมที่ควรอนุรักษ์เอาไว้

256

ความเป็นมาของ หุ่นกระบอกไทย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยช่างชาวสุโขทัย ที่ชื่อว่านายเหน่ง ได้ทำหุ่นเรียนแบบจีนไหหลำ ต่อมาหม่อมราชวงศ์กระต่าย อมาตยกุล (คุณเถาะ) ได้เสด็จไปราชการที่ จ. สุโขทัย และได้ดูการแสดง ซึ่งสร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก เมื่อกลับกรุงเทพจึงได้สร้างหุ่นเรียนแบบขึ้นมาเพื่อทำการแสดง และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้ในช่วงแรกจึงเรียกกันว่า “หุ่นคุณเถาะ” กระทั่งมาเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่า “หุ่นกระบอก”

ลักษณะของ หุ่นกระบอกไทย

เป็นหุ่นที่สร้างจากกระบอกไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่น ๆ มีลักษณะครึ่งตัว ลำตัวใช้ผ้าคลุมจากไหล่ลง มีการปักเย็บอย่างสวยงามตามบุคลิกของตัวละคร ส่วนหัวก็เป็นแบบโขนทำเป็นตัวละครต่าง ๆ เช่น พระ นาง ยักษ์ ลิง ตลก สัตว์ ส่วนของมือหุ่นจะมีลักษณะเหมือนกำลังตั้งวงรำ (เหมือนคนกำลังรำ) หากเป็นตัวละครอย่าง ยักษ์ ในมือขวาจะถืออาวุธ มือซ้ายจะตั้งวงรำ การบังคับหุ่นจะใช้ไม้เรียวยางที่เรียกว่า “ไม้ตะเกียบ” จับเชิดร่ายรำไปตามจังหวะเพลง และเนื้อเรื่อง

วิธีการแสดง หุ่นกระบอกไทย

การแสดงจะการสร้างโรง เหมือนโรงละคร มีฉากภาพวาดตามความนิยมของแต่ละคณะ มีซุ้มประตูสองข้างเพื่อให้ตัวหุ่นรำเข้าออก มีผ้าบังมือของผู้เชิด ตัวหุ่นจะคล้าย ๆ การแสดงละครรำ ท่ารำของหุ่นกระบอกก็คือ การกล่อมหน้า กระทบจังหวะ แทงมือ ตีบท และรำเพลง ซึ่งผู้ที่เชิดก็ต้องมีพื้นฐานการรำต้องฝึกฝนการบังคับให้เชี่ยวชาญ ผู้เชิดยังต้องเป็นคนพูดบทแสดงแทนหุ่นด้วย

ในส่วนของดนตรี ส่วนใหญ่จะใช้วงปี่พาทย์ การร้องดำเนินเรื่องที่เรียกว่า เพลงหุ่นเคล้าซอ หรือเพลงหุ่นกระบอก เนื้อเรื่องที่นิยมนำมาแสดงก็อย่างเช่น สังข์ทอง ไกรทอง แก้วหน้าม้า สุวรรณหงส์ และพระอภัยมณี เป็นต้น

หุ่นกระบอกไทย ในปัจจุบัน

หลังจากที่มีปฏิวัติวัฒนธรรมห้ามการแสดงที่มีรากเหง้ามาจากต่างชาติ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หุ่นกระบอกได้ยุติการแสดงในปี พ.ศ. 2485 และมีการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในปี 2518 โดยนายเปียก ประเสริฐกุลและนางชื้น ประเสริฐกุล (ลูกสาว) อาจารย์จักพันธุ์ โปษยกฤต และมีการตั้งคณะหุ่นกระบอกของคนรุ่นใหม่ ในปี 2540 เช่นคณะหุ่นครูไก่ (สุรัตน์ จงดา)

ส่วนในปัจจุบัน คณะของหุ่นกระบอก ก็มีทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เช่น หุ่นบ้านตุ๊กตุ่น, หุ่นกรมศิลปากร, หุ่นรอดศิรินิลศิลป์ , หุ่นยายสาหร่าย, หุ่นตาดัด, หุ่นแม่เชวง และของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี พ.ศ. 2543

หุ่นกระบอกไทย ถึงแม้ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีให้รับชมมากนัก เพราะมีสิ่งบันเทิงสมัยใหม่มาตอบสนองมากมาย แต่อย่างไรก็ตามหุ่นกระบอกก็ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าอนุรักษ์เอาไว้ เพื่อให้เป็นศิลปะประจำชาติให้อยู่สืบไปให้นานเท่านาน